รู้จักโรคต้อ 4 ชนิด

Last updated: 27 พ.ย. 2563  |  1788 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้จักโรคต้อ 4 ชนิด

รู้จักโรคต้อ 4 ชนิด

โรคต้อของตามีกี่โรค และมีความแตกต่างกันอย่างไร?

คำว่าต้อเป็นคำทั่วไปหมายถึงตา ดังนั้นเมื่อบอกว่าเป็นโรคต้อ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นโรคต้อชนิดใด ที่พบบ่อยๆ และควรทราบ เรียงลำดับตามความรุนแรงจากน้อยไปมาก คือ

  1. โรคต้อลม (Pinguecular)
    มีลักษณะเป็นเยื่อสีขาวหรือขาวเหลืองบริเวณตาขาวข้างๆ ตาดำ เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองต่อเยื่อบุตาเช่น ลม ฝุ่น แสงแดด มาเป็นเวลานาน มักทำให้มีอาการเคืองตาง่าย ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด.


  2. โรคต้อเนื้อ (Pterygium)
    เป็นโรคที่ต่อเนื่องมาจากโรคต้อลม แต่เยื่อบุตาลามเข้ามาถึงบริเวณกระจกตาดำ (cornea) เป็นลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อสีขาวออกแดงบริเวณกระจกตาด้านหัวตาหรือหางตา เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองมาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้มีอาการเคืองตาและตาแดงบริเวณต้อเนื้อเมื่อถูกสิ่งระคายเคือง ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด

  3. โรคต้อกระจก (Cataract)
    เป็นโรคที่เกิดจากการขุ่นของเลนส์แก้วตา (lens) ในลูกตา ทำให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอก หรือควันขาวๆ บัง ส่วนมากมักเป็นจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ แต่อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดหลังอุบัติเหตุต่อดวงตาก็ได้ มักทำให้ตามัวมากขึ้นเรื่อยจนอาจมองไม่เห็นในที่สุดถ้าไม่ได้รับการรักษา

  4. โรคต้อหิน (Glaucoma)
    เป็นโรคที่มีความดันในลูกตาสูงจากการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) น้อยผิดปกติ ทำให้ลูกตาแข็งขึ้น จนกระทั่งกดขั้วประสาทตา (optic disc) ทำให้มีการเสียของลานสายตาการมองเห็น จนกระทั่งตาบอดสนิทได้ในที่สุด.


ส่วนโรคต้ออื่นๆที่เป็นภาษาเฉพาะถิ่น เช่น ต้อลิ้นหมา คือต้อเนื้อ หรือโรคต้อลำไย คือต้อหิน แต่กำเนิด เป็นต้น.

โรคต้อลมสาเหตุเกิดจากลม การใส่แว่นจะป้องกันโรคได้หรือไม่
สิ่งระคายเคืองที่เป็นสาเหตุของโรคต้อลม เป็นไปได้ทั้งจากลม ฝุ่น หรือแสงแดดจ้าๆ ซึ่งนอกจาก จะเป็นสาเหตุของโรคต้อลมแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เป็นต้อลมอยู่แล้ว มีอาการเคืองตามากขึ้นและต้อลมลุกลามมากขึ้นเพื่อสัมผัสกับสิ่งระคายเคืองดังกล่าว แว่นตามักช่วยกันลมเฉพาะจากทางด้านหน้า จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันทั้งลม ฝุ่น และแสงแดด. ดังนั้นคำแนะนำที่ดีที่สุดจึงควรให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยง บริเวณที่มีลม ฝุ่นหรือแสงแดดจ้าๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่า.

โรคต้อเนื้อ เกิดจากการกินเนื้อ และหลังลอกต้อเนื้อควรงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์จริงหรือไม่
โรคต้อเนื้อ เกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อ บุตาบริเวณข้างตาดำ จากการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด แม้มีลักษณะคล้ายเป็นก้อนเนื้อ แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอาหารประเภทเนื้อ และการกินอาหารประเภทเนื้อหลังการลอกต้อเนื้อ ไม่ทำให้แผลเกิดการอักเสบหรือเกิดต้อเนื้อขึ้นใหม่ แต่อย่างใด

โรคต้อกระจกจำเป็นต้องเป็นทุกคนหรือไม่
โรคต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา ทำให้เลนส์แก้วตาซึ่งควรมีลักษณะใสมีสีขาวหรือขาวอมน้ำตาลมากขึ้น. เมื่อมนุษย์ทุกคนมีอายุมากขึ้นจะต้องเกิดการเสื่อมของเลนส์ตาทุกคน เมื่อการขุ่นของเลนส์ตามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญหาตามัวจะเรียกว่าเป็นโรคต้อกระจก ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจะต้องเป็นต้อกระจกแน่นอน แต่อาจเป็นตั้งแต่อายุมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

โรคต้อกระจกสามารถใช้ยาหยอดรักษาให้หายได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตาหรือยากินที่สามารถให้การรักษาโรคต้อกระจกให้หายขาดได้. การรักษาที่ได้ผลคือการผ่าตัด (หรืออาจเรียกว่าลอกต้อ) เอาเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออก และใส่เลนส์ แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยวิธีการเอาเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก อาจใช้วิธีดันออกหรือใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) สลายออกก็ได้ แต่ยังไม่มีการใช้แสงเลเซอร์ในการผ่าตัดโรคต้อกระจก

เลนส์แก้วตาเทียมใช้ได้นานกี่ปี และต้องดูแลรักษาอย่างไร
ปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตเลนส์แก้วตาเทียมมีความก้าวหน้า มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ใส่แล้วคล้ายธรรมชาติ ไม่ต้องการการดูแลรักษาใดๆ จากผู้ป่วย และสามารถใช้เลนส์แก้วตาเทียมนั้นได้ตลอดอายุของผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมอีก.

โรคต้อหิน ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเสมอไป หรือไม่ และการผ่าตัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด
โรคต้อหินมีหลายชนิด ดังนั้นการรักษาจึงมีหลากหลายวิธี เช่น การใช้ยาหยอดตาลดความดันตา ยากินลดความดันตา การใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัด โดยในกรณีที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ไม่ใช่การผ่าเอาหินหรือของแข็งใดๆ ออกจากตา แต่เป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) ออกจากลูกตา ทำให้ความดันตาลดลงและไม่เป็นอันตรายต่อขั้วประสาทตา.

โรคต้อต่างๆ เป็นโรคพันธุกรรมหรือไม่
โรคต้อลมและต้อเนื้อ เป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งระคายเคืองจึงไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม. โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุเกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามสภาพ ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่โรคต้อกระจกที่เกิดในเด็กหรือเป็นแต่กำเนิดในบางรายอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม. โรคต้อหินอาจเป็นได้ทั้งเป็นและไม่เป็นโรคพันธุกรรม แต่ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน เมื่ออายุเกิน 40 ปีควรได้รับการตรวจวัดความดันตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินที่อาจเกิดขึ้นได้.

Powered by MakeWebEasy.com